พระเทศน์วันเข้าพรรษา;
ตัณหา มีอยู่ 3 ประเพศ คือ; กามตัณหา, ภวตัณหา, วิภวตัณหา....
ตัณหา เป็นหลักธรรมข้อหนึ่งในพุทธศาสนา หมายถึง ความติดใจอยาก ความยินดี ยินร้าย หรือติดในรสอร่อยของโลก ประกอบด้วย ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ และ ตัณหาย่อมเจริญแก่ผู้ประพฤติประมาท ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ครอบงำบุคคลใด ความโศกทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ดังนั้น ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นบ่อยๆ เมื่อบุคคลยังถอนเชื้อตัณหาไม่ได้....
"ตัณหาเกิดจากเวทนาเป็นปัจจัย โดยมี อวิชชาเป็นมูลราก ควรเห็นตัณหา เป็นดังเครือเถาที่เกิดขึ้น แล้ว จงตัดรากเสียด้วยปัญญา"
ประเภทของตัณหา;
ตัณหาแบ่งออกเป็น 3 อย่าง;
- กามตัณหา คือ ความอยากหรือไม่อยาก ใน สัมผัสทั้ง 5
- ภวตัณหา คือ ความอยากทางจิตใจ เมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้ว ไม่ต้องการให้มันเปลี่ยนแปลง
- วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากทางจิต ความอยากดับสูญ
ตัณหา 6
ตัณหา 6 หมวด ได้แก่;
- รูปตัณหา คือ อยากได้รูป (ที่มองเห็นด้วยตา)
- สัททตัณหา คือ อยากได้เสียง
- คันธตัณหา คือ อยากได้กลิ่น
- รสตัณหา คือ อยากได้รส
- โผฏฐัพพตัณหา คือ อยากได้โผฏฐัพพะ (ความรู้สึกทางกายสัมผัส)
- ธัมมตัณหา คือ อยากในธรรมารมณ์ (สิ่งที่ใจนึกคิด)
ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งตัณหาทั้ง6นี้ เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ความดับโดยไม่เหลือ ความสงบระงับ ความสูญแห่งตัณหาทั้ง6นี้ เป็นความดับโดยไม่เหลือแห่งทุกข์ ตัณหาทั้ง 6 นี้ ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด....
มรรค คือ หนทางถึงความดับทุกข์ เป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจ (เรียกว่า มัคคสัจจ์ หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ)หรือการลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ และนับเป็นหลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยกรอบการปฏิบัติ 8 ประการด้วยกัน เรียกว่า "มรรคมีองค์แปด" หรือ "มรรคแปด" (อัฏฐังคิกมรรค) โดยมีรายละเอียดดังนี้;
- สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึง การปฏิบัติอย่างเหมาะสมตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
- สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม
- สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึง การพูดต้องสุภาพ แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม
- สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง
- สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน ไม่คดโกง เอาเปรียบคนอื่น ๆ มากเกินไป
- สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม
- สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
- สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลส นิวรณ์อยู่เป็นปกติ
~สาธุ~
0 wht's on ur mind??:
Post a Comment